หน่วยที่1 ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

ผู้แต่ง  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ลักษณะการแต่ง   ร้อยแก้วประเภทเรียงความ

ที่มาของเรื่อง  ชวนคิดพิจิตรภาษา  ในหนังสือมณีพลอยร้อยแสง

จุดมุ่งหมาย  เพื่อแสดงแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีไทยและบทกวีจีน ที่กล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวนา

สาระสำคัญโดยสรุป   เนื้อความแสดงถึงความเข้าพระทัยปัญหาต่างๆ ของชาวนาและยังสะท้อนพระเมตตาธรรมอันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่มีต่อชาวนา ทรงนำบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์มาวิเคราะห์ เกี่ยวกับความยากลำบาบของชาวนาไทย และทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทย ทำให้เห็นภาพชีวิตชองชาวนาไทยและชาวนาจีน ไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าใดนัก

เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษา อย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่า เขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวาง และลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหู มาจนถึงวันนี้

เปิบข้าวทุกคราวคำ                  จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน                                 จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส                              ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน                       และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง                     ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว                   ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อยหยดสักกี่หยาด                ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                          จึงแปรรวงมาเปิบกัน
น้ำเหงื่อยที่เรื่อแดง                   และนำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น                        ที่สูซดกำซาบฟัน

          ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า กู ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ ลำเลิก กับใครๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคม มีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลายๆ ประเทศ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็จะละทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม หรือการบริโภค ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่า หรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า และไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ ในภาคเกษตรกรรม ก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืช ซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาล ก็มีความจำเป็น ที่จะต้องขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิ ที่จะอุทธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตร ที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจ ออกมาสะกิดใจ คนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป

หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้ เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปล ด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์ เหมือนบทกวีของ  จิตร ภูมิศักดิ์

หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อยหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

         กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจ จึงได้บรรยาย ความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า ประเพณีดั้งเดิม บทกวีของหลี่เชินเรียบๆ ง่ายๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร

เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับ นำชาวนามาบรรยาย เรื่องของตน ให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเองเวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคน จะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนา ก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความ สะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
พิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือ มณีพลอยร้อยแสง ๒๕๓๓ 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

original_4901

     ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระราชอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้ถวายพระนามว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ”

     เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ” นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ที่ “ สยามบรมราชกุมารี ” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และ ดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายพระสมัญญาว่า “ เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ” และ “ วิศิษฏศิลปิน ” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในทองถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคคลอย่างสมบูรณ์

พระอัจฉริยภาพ

ด้านภาษา

พระองค์ทรงมีความรู้ทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษา ภาษาเยอรมัน และภาษาลาติน อีกด้วย ขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสอนภาษาไทยแก่พระราชโอรส และ พระราชธิดา โดยทรงอ่านวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ พระราชทาน และทรงให้พระองค์ทรงคัดบทกลอนต่าง ๆ หลายตอน ทำให้พระองค์โปรดวิชาภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยในภาษาอังกฤษและภาษาบาลีด้วย

ด้านดนตรี

พระองค์ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง โดยทรงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก  พระองค์ทรงเริ่มหัดดนตรีไทย ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก  และได้ทรงดนตรีไทยในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียน รวมทั้ง งานวันคืนสู่เหย้าร่วมกับวงดนตรีจิตรลดาของโรงเรียนจิตรลดาด้วย  หลังจากที่ทรงเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พระองค์ทรงเข้าร่วมชมรมดนตรีไทยของสโมรสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ ของคณะอักษรศาสตร์

ด้านพระราชนิพนธ์

พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า ๑๐๐ เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เช่น เกล็ดหิมะในสายหมอก ทัศนะจากอินเดีย ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กษัตริยานุสรณ์ หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น สมเด็จแม่กับการศึกษา  ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น หยกใสร่ายคำ ความคิดคำนึง เก็จแก้วประกายกวี และหนังสือทั่วไป เช่น นิทานเรื่องเกาะ (เรื่องนี้ไม่มีคติ ) เรื่องของคนแขนหัก เป็นต้น และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์ วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์

แกะถ้อย  ร้อยเรียงความ

ความหมาย

         การพินิจ คือ การพิจารณาตรวจตรา พร้อมทั้งวิเคราะห์แยกแยะและประเมินค่าได้ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อนำไปแสดงความคิดเห็นและข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย เช่น การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อแนะนำให้บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้อ่านได้รู้จักและได้ทราบรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์ต่อใครบ้าง ทางด้านใด ผู้พินิจมีความเห็นว่าอย่างไร คุณค่าในแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน

แนวทางในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม

        การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมมีแนวให้ปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกชนิด ซึ่งผู้พินิจจะต้องดูว่าจะพินิจหนังสือชนิดใด มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ซึ่งจะมีแนวในการพินิจที่จะต้องประยุกต์หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานเขียนนั้น ๆ

หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม มีดังนี้

๑.  ความเป็นมา หรือ ประวัติของหนังสือและผู้แต่ง

เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

๒.  ลักษณะคำประพันธ์

๓.  เรื่องย่อ

๔.  เนื้อเรื่อง

   ให้วิเคราะห์เรื่องตามหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการดำเนินเรื่อง การใช้ถ้อยคำสำนวนในเรื่อง ท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดที่สร้างสรรค์  ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น

๕.  แนวคิด จุดมุ่งหมาย

เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง หรือบางทีก็แฝงเอาไว้ในเรื่อง ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ออกมา

๖.  คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

ซึ่งโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น ๔ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้พินิจจะต้องไปแยกแยะหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะหนังสือ ที่จะพินิจนั้น ๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

การพินิจคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

         มี ๔ ประเด็นดังนี้

๑.  คุณค่าด้านวรรณศิลป์

คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากรสของคำที่ผู้แต่งเลือกใช้ และรสความที่ให้ความหมายกระทบใจผู้อ่าน

๒.  คุณค่าด้านเนื้อหา

คือ การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้คุณค่าทางปัญญาและความคิดแก่ผู้อ่าน

๓.  คุณค่าด้านสังคม

วรรณคดีและวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในอดีตและวรรณกรรมที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย

๔.  การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เพื่อให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ในคุณค่าของชีวิต ได้ความคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่าน และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต นำไปเป็นแนวปฏิบัติหรือแก้ปัญหา

ใส่ความเห็น