หน่วยที่3 มงคลสูตรคำฉันท์

มงคลสูตรคำฉันท์ 

มงคลสูตรคำฉันท์  เป็นวรรณคดี  คำสอน  ผลงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำหลักธรรม ที่เป็นพระคาถาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้งแล้วแปลถอดความเป็นคำประพันธ์ที่ ไพเราะ  มีความงดงามทั้งด้านเสียงและความหมาย  สามารถจดจำได้ง่าย  มงคลสูตรคำฉันท์นี้จะเกิดแต่ตัวเราเองได้ก็ต้องเป็นผลมาจากการประพฤติ ปฏิบัติดีของตนเองเท่านั้น  หาได้มาจากปัจจัยอื่นเลย

         ผู้แต่ง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
       ลักษณะคำประพันธ์ :  กาพย์ฉบัง ๑๖ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ แทรกคาถาบาลี
       จุดมุ่งหมายในการแต่ง : เพื่อให้ตระหนักว่าสิริมงคลจะเกิดแก่ผู้ใดก็เพียงผลมาจากการปฏิบัติของตนทั้งสิ้นไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดจะทำให้เกิดสิริมงคลแก่เราได้  นอกจากตัวเราเอง
        ความเป็นมา
         เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงนำมงคลสูตรมาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทร้อยกรองประเภทคำฉันท์  โดยใช้คำประพันธ์ ๒ ชนิดคือ  กาพย์ฉบัง ๑๖ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ทรงนำคาถาภาษาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้งแล้วแปลถอดความเป็นร้อยกรองภาษาไทย  ได้ถูกต้องตรงตามบังคับในฉันทลักษณ์โดยไม่เสียเนื้อความจากพระคาถาบาลี  การจัดวางลำดับของมงคลแต่ละข้อก็เป็นไปตามที่ปรากฏอยู่ในพระคาถาเดิม  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาได้อย่างดียิ่ง

“อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
หนึ่งคือบ่คบพาล  เพราะจะพาประพฤติผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต  เพราะจะพาประสบผล
หนึ่งกราบและบูชา อภิบูชนีย์ชน
ข้อนี้แหละมงคล  อดิเรกอุดมดี”

        เรื่องย่อ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการ  ไว้ในมงคลสูตร  ซึ่งเป็นพระสุตรสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา  มงคลสูตรปรากฏในพระสุตตันตปิฏก  ขุททกนิกาย  หมวดขุททกปาฐะ พระอานนทเถระได้กล่าวถึงที่มาของมงคลสูตรว่า  ท่านได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ณ เชตวันวิหาร  กรุงสาวัตถี มงคลสูตรนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจคำถาม  คือ  พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า  มีเทวดาเข้ามาทูลถามพระองค์เรื่องมงคล  เพราะเกิดความโกลาหลวุ่นวายขึ้นทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์  ที่มีลัทธิเรื่องมงคลแตกต่างกันเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี  ท้าวสักกเทวราชจึงทรงมอบหมายให้ตนมาทูลถาม  พระพุทธองค์จึงตรัสตอบเรื่องมงคล ๓๘ ประการ  ต่อจากราตรีนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องมงคลนี้แก่พระอานนท์อีกครั้ง หนึ่ง

        ใจความสำคัญของมงคลสูตรคำฉันท์

คาถาบทที่ ๑         ไม่ควรคบคนชั่วเพราะจะพาให้เราประพฤติชั่วไปด้วย  ควรคบคนดีมีความรู้เพราะจะนำเราไปสู่ความสำเร็จ และควรบูชาคนดี
คาถาบทที่ ๒          ควรปฏิบัติตนและอยู่ในที่ที่เหมาะที่ควรแห่งตน  ทำบุญไว้แต่ปางก่อน
คาถาบทที่ ๓          รู้จักฟัง  รู้จักพูด  มีวินัย  ใฝ่ศึกษาหาความรู้
คาถาบทที่ ๔          ดูแลบิดามารดา  บุตร  ภรรยาเป็นอย่างดี  ทำงานด้วยความตั้งใจ
คาถาบทที่ ๕          รู้จักให้ทาน  ช่วยเหลือญาติพี่น้อง  ทำแต่ความดี  มีสัมมาอาชีพ
คาถาบทที่ ๖          ไม่ประพฤติชั่ว  ไม่ละเลยในการประพฤติ  เว้นการดื่มน้ำเมา
คาถาบทที่ ๗          ให้ความเคารพผู้ควรเคารพ  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  มีความพอใจในสิ่งที่ตนมี  มีความกตัญญูรู้คุณ  และ รู้จักฟัง  ธรรมในโอกาสอันควร
คาถาบทที่ ๘          มีความอดทน  ว่านอนสอนง่าย  หาโอกาสพบผู้ดำรงคุณธรรมเพื่อสนทนาธรรม
คาถาบทที่ ๙          พยายามกำจัดกิเลส  ประพฤติพรหมจรรย์  เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตเพื่อจิตสงบถึงซึ่งนิพพาน
คาถาบทที่ ๑๐        มีจิตอันสงบ  รู้จักปล่อยวางไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ
คาถาบทที่ ๑๑        เทวดาและมนุษย์ปฏิบัติสิ่งที่เป็นมงคลเหล่านี้แล้วจะไม่พ่ายแพ้ให้แก่ข้าศึกทั้งปวงมีแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อ

 

line0078

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช ๒๔๕๓ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม ๑๕ ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญ    พระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์   บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ” พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล  แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน  ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ  จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ ( แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพ ฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้  ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย

ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO ) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

line0078

หลักการอ่านคำประพันธ์ประเภทคำฉันท์

      ฉันท์ เป็นลักษณ์หนึ่งของร้อยกรองในภาษาไทย โดยแต่งกันเป็นคณะ มี ครุ และ ลหุ และสัมผัส กำหนดเอาไว้ด้วย ฉันท์ในภาษาไทยได้ถ่ายแบบมาจากประเทศอินเดีย ตามตำราที่เขียนถึงวิธีแต่งฉันท์ไว้ เรียกว่า “ คัมภีร์วุตโตทัย ” ซึ่งแต่เดิมฉันท์จะแต่งเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต

ต่อมา เมื่อเผยแพร่ในประเทศไทย จึงเปลี่ยนแบบมาแต่งในภาษาไทย โดยเพิ่มเติมสัมผัสต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ยังคงคณะ ( จำนวนคำ ) และเปลี่ยนลักษณะครุ – ลหุแตกต่างไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังเพิ่มความไพเราะของภาษาไทยลงไปอีกด้วย

การอ่านทำนองเสนาะคำฉันท์ที่ถูกต้องไพเราะ  จำเป็นต้องรู้จักลักษณะบังคับทั่วไปของของคำฉันท์ และ ลักษณะเฉพาะของคำฉันท์แต่ละชนิด  ฉันท์มีลักษณะบังคับพิเศษแตกต่างกับคำประพันธ์ชนิดอื่น โดยบังคับคำลหุ คำครุ แทนคำธรรมดา นอกจากนี้ยังบังคับสัมผัสเช่นเดียวกับคำประพันธ์ชนิดอื่น  การอ่านทำนองเสนาะคำฉันท์มีหลักเกณฑ์การอ่านเหมือนกับคำประพันธ์ทั่วไป คือ

๑.  อ่านทอดจังหวะคำแต่ละวรรคตามแต่ชนิดของฉันท์

๒. อ่านออกเสียงคำให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับลหุครุของฉันท์แต่ละชนิด

๓.  คำสุดท้ายวรรคที่ใช้คำเสียงจัตวา  ต้องอ่านให้เสียงสูงเป็นพิเศษ เพื่อความไพเราะ ใช้คำเสียงจัตวาตรงท้ายคำบาทแรก

๔.  อินทรวิเชียรฉันท์ แบ่งจังหวะการอ่านวรรคหน้า ๒ จังหวะ จังหวะ ๒ คำ และ จังหวะ ๓ คำ วรรคหลัง ๒ จังหวะ จังหวะละ ๓ คำ

รอนรอน / และอ่อนแสง                   นภะแดง / สิแปลงไป

เป็นคราม / อร่ามใส                                สุภะสด / พิสุทธิ์สี

การอ่านคำประพันธ์ประเภทฉันท์จะแตกต่างจากคำประพันธ์ประเภทอื่น  เนื่องจากการอ่านฉันท์จะต้องอ่านตามฉันทลักษณ์ ครุ – ลหุ ของฉันท์ แต่ละชนิด ดังเช่น อินทรวิเชียรฉันท์ต้องอ่านออกเสียงดังนี้

เสียงเจ้าสิพรากว่า                            ดุริยางคดีดใน

ฟากฟ้าสุราลัย                                             สุรศัพทเริงรมย์

เสียง- เจ้า / สิ- พราก- ว่า                  ดุ-ริ-ยาง / คะ-ดีด-ใน

ฟาก-ฟ้า / สุ-รา-ไล                                         สุ-ระ-สับ / ทะ-เริง-รม

line0078

หลักการดู

ประเภทของการดู

การดูมี ๒ ประเภท คือ

. การดูจากของจริง เช่น การชมการสาธิต การไปทัศนาจร ฯลฯ

. การดูผ่านสื่อ เช่น สื่อโทรทัศน์  ภาพถ่าย สื่อหนังสือพิมพ์  สื่อภาพยนตร์ สัญลักษณ์ ฯลฯ

หลักการดูที่ดี

๑.  ดูอย่างมีจุดมุ่งหมาย

คือ ดูไปเพื่ออะไร เพื่อความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน หรือ เพื่อให้ได้ข้อคิดในการนำไปปฏิบัติตาม

๒.  ดูในสิ่งที่ควรดู

เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยเรียน  ควรดูรายการที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน ได้แก่ รายการตอบปัญหาทางวิชาการ รายการที่มุ่งให้แนวทางการปฏิบัติตนให้เหมาะสม ฯลฯ

๓.  ดูอย่างมีวิจารณญาณ

ให้ดูและคิดไตร่ตรองหาเหตุและผลทุกครั้ง

๔.  ดูแล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์

การดูภาพสัญลักษณ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูเพื่อให้เข้าใจและนำมาใช้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น สัญลักษณ์ที่แสดงเครื่องหมายการจราจร เครื่องหมายห้ามผ่าน เครื่องหมายอันตราย ฯลฯ

รายการทีวี

line0078

หลักการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม

ความหมาย

การพินิจ คือ การพิจารณาตรวจตรา พร้อมทั้งวิเคราะห์แยกแยะและประเมินค่าได้ ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อนำไปแสดงความคิดเห็นและข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย เช่น การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อแนะนำให้บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้อ่านได้รู้จักและได้ทราบรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์ต่อใครบ้าง ทางด้านใด ผู้พินิจมีความเห็นว่าอย่างไร คุณค่าในแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวัน

แนวทางในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม

การพินิจวรรณคดีและวรรณกรรมมีแนวให้ปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกชนิด ซึ่งผู้พินิจจะต้องดูว่าจะพินิจหนังสือชนิดใด มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ซึ่งจะมีแนวในการพินิจที่จะต้องประยุกต์หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานเขียนนั้น ๆ

หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการพินิจวรรณคดีและวรรณกรรม มีดังนี้

๑.  ความเป็นมา หรือ ประวัติของหนังสือและผู้แต่ง

เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

๒.  ลักษณะคำประพันธ์

๓.  เรื่องย่อ

๔.  เนื้อเรื่อง

ให้วิเคราะห์เรื่องตามหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการดำเนินเรื่อง การใช้ถ้อยคำสำนวนในเรื่อง ท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดที่สร้างสรรค์  ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น

๕.  แนวคิด จุดมุ่งหมาย

เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง หรือบางทีก็แฝงเอาไว้ในเรื่อง ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ออกมา

๖.  คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

ซึ่งโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น ๔ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้พินิจจะต้องไปแยกแยะหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะหนังสือที่จะพินิจนั้น ๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

การพินิจคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

มี ๔ ประเด็นดังนี้

๑.  คุณค่าด้านวรรณศิลป์

คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากรสของคำที่ผู้แต่งเลือกใช้และรสความที่ให้ความหมายกระทบใจผู้อ่าน

๒.  คุณค่าด้านเนื้อหา

คือ การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้คุณค่าทางปัญญาและความคิดแก่ผู้อ่าน

๓.  คุณค่าด้านสังคม

วรรณคดีและวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในอดีตและวรรณกรรมที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย

๔.  การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เพื่อให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ในคุณค่าของชีวิต ได้ความคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่าน และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต นำไปเป็นแนวปฏิบัติหรือแก้ปัญหา

ใส่ความเห็น